062-310-6964     sale@getmycrm.com    

5 เทรนด์ ‘บริหารองค์กร’ ที่จะเปลี่ยนโลก ‘การทำงาน’ ในปี 2021

5 เทรนด์ ‘บริหารองค์กร’ ที่จะเปลี่ยนโลก ‘การทำงาน’ ในปี 2021

1. Flat & Lean

     ในอดีตโครงสร้างองค์กรจะมีโครงสร้างแบบลำดับขั้นตามพีระมิด และใช้วิธีบริหารแบบรวมศูนย์ โดยอํานาจการตัดสินใจต่าง ๆ จะอยู่ที่ผู้บริหารระดับสูงแทบทั้งหมด ขณะที่ผู้บริหารระดับรองลงมาและพนักงานเป็นเพียงผู้รับคําสั่งไปปฏิบัติตามหน้าที่ที่กำหนดไว้ มี job description ที่ค่อนข้างตายตัว ซึ่งองค์กรส่วนมากโดยเฉพาะองค์กรที่มีขนาดใหญ่และอยู่มานาน มักจะมีโครงสร้างองค์กรในลักษณะนี้

แต่ปัจจุบันธุรกิจเปลี่ยนแปลงเร็วมาก หากต้องรอให้ผู้บริหารระดับสูงตัดสินใจทุกเรื่องก็อาจจะไม่ทันการ อีกทั้งการมีลำดับขั้นมากเกินไปก็หมายถึงค่าใช้จ่ายในการจ้างคนที่มากขึ้นเช่นเดียวกัน องค์กรจึงจำเป็นต้องปรับโครงสร้างให้ยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งถือเป็นอีกความท้าทายขององค์กรยักษ์ใหญ่ในการปรับตัว โดยโครงสร้างองค์กรในปี 2021 และต่อจากนี้ จะมีความ flat และ lean มากขึ้น เพื่อให้กระบวนการตัดสินใจสามารถทำได้รวดเร็วขึ้น ตอบสนองผู้บริโภคและลูกค้าได้ทันท่วงที และลดงบประมาณการจ้างงานในตำแหน่งที่ไม่จำเป็น โดยองค์กรจะหันมาพึ่งพาการใช้บริการ outsource มากขึ้น

2. Innovation Culture

     เมื่อธุรกิจแข่งขันกันด้วยนวัตกรรมและการตอบสนองผู้บริโภคที่รวดเร็ว การทำงานจึงไม่สามารถเน้น operation อย่างเดียวตามที่เคยเป็นมาได้อีกต่อไป แต่ต้องหันมาโฟกัสที่นวัตกรรมมากขึ้น ซึ่งการจะสร้างนวัตกรรมได้นั้น ไม่สามารถทำได้เพียงแค่ตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแล หรือการกำหนดนโยบายจากผู้บริหารเท่านั้น หากแต่กุญแจสำคัญอยู่ที่ การสร้าง innovation culture ให้เกิดขึ้นจริงในองค์กร

ดังนั้นอีกหนึ่งในความท้ายทายขององค์กรในปี 2021 คือการสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่เอื้อต่อความคิดสร้างสรรค์ องค์กรต้องกล้าออกจาก comfort zone ยืดหยุ่นกฎระเบียบหรือประเพณีปฏิบัติต่างๆ ที่จะเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน กล้าที่จะทดลองทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ และยอมรับว่าความล้มเหลวหรือความผิดพลาดเป็นหนึ่งในขั้นตอนก่อนที่จะประสบความสำเร็จ เพื่อให้พนักงานกล้าริเริ่มสิ่งใหม่ โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกตำหนิหรือลงโทษ

     ยกตัวอย่างเช่น Google จัดสรรเวลาการทำงานของพนักงานให้ 20% ของเวลาทำงานเป็นช่วงเวลาของการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆโดยเฉพาะ , ผู้บริหาร 3M ออกกฎให้พนักงานต้องฟังคนที่มีไอเดียจะนำเสนอทุกครั้ง โดยไอเดียจะถูกส่งไปยังทีมเฉพาะกิจ 3 ทีมคือทีม “scouts” “entrepreneurs” และ “implementers” ที่รวมคนเก่งจากแผนกต่างๆ ที่มีประสบการณ์และแบคกราวด์ต่างกันมาช่วยกันคิดต่อยอดไอเดียและทดลองความเป็นไปได้ต่างๆ

3. Learning Agility

     การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีและช่องว่างทักษะที่มีมากในตลาดแรงงาน ทำให้การ reskill และ upskill ยังคงเป็นสิ่งจำเป็นที่องค์กรต้องทำ แต่หลายองค์กรยังยึดติดกับการพัฒนาคนผ่านการจัดอบรมให้พนักงานมาเรียนในห้องเรียนแบบเดิมๆ ซึ่งบางครั้งมีค่าใช้จ่ายสูง ความรู้ที่ได้อาจไม่สามารถนำมาใช้ได้จริงเพราะติดที่ระบบการทำงานหรือวัฒนธรรมขององค์กรที่มีอยู่เดิม หรือบางครั้งกว่าจะเรียนจบ และนำความรู้มาใช้ ก็โดนคู่แข่งแซงทำไปก่อนแล้ว จึงทำให้การอบรมไม่ได้ประสิทธิผลเท่าที่ควร

     ดังนั้น เทรนด์การเรียนรู้ในปี 2021 นี้ จะเน้นการเรียนรู้แบบ fast track โดยการสร้าง learning agility หรือการเรียนรู้แบบยืดหยุ่นให้เกิดขึ้นในองค์กร เพราะในยุคที่ทุกองค์กรแข่งขันกันด้วยนวัตกรรมนี้ การทำงานจะไม่สามารถพึ่งพา best practice ได้เหมือนก่อน เนื่องจากทุกอย่างกลายเป็นเรื่องใหม่หมด ดังนั้นรูปแบบการเรียนรู้ของพนักงานจะปรับสู่การเรียนรู้ผ่านการทดลองทำสิ่งใหม่หรือใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการทำงานที่พนักงานอาจต้องเริ่มต้นจากค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมด้วยตนเอง

     สิ่งเหล่านี้จะเป็นกระบวนการเรียนรู้ชั้นยอดสำหรับพนักงาน ทำให้องค์กรได้พนักงานที่มีทักษะตรงตามความต้องการมากขึ้น และยังเพิ่มโอกาสการสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามการที่รูปแบบการเรียนรู้แบบนี้จะเกิดขึ้นได้ องค์กรก็ต้องมีความยืดหยุ่นก่อนเพราะหากยังยึดติดกับรูปแบบการทำงานแบบเดิมๆ พนักงานก็จะไม่มีพื้นที่ให้ทดลองและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้เลย

4. Inclusive Leadership

     ในโลกการทำงานยุคใหม่ ปัญหาหรือโจทย์ในการทำงานจะมีความยากและซับซ้อนยิ่งขึ้น การทำงานจะต้องใช้การระดมความคิดและอาศัยความร่วมมือของทีมงานที่มีความแตกต่างและหลากหลายทางความคิดมาช่วยในการแก้ปัญหา ดังนั้นบทบาทของผู้นำก็จะเปลี่ยนไป จากเดิมที่เน้นสั่งการให้ลูกน้องปฏิบัติตามจะเปลี่ยนเป็นเน้นการทำงานแบบมีส่วนร่วม

สำหรับ ‘คุณสมบัติผู้นำ 2021’ ประกอบด้วย Growth Mindset, วิสัยทัศน์และเป้าหมายชัดเจน , ยืดหยุ่นและกล้าทำลายข้อจำกัด , สร้างแรงบันดาลใจและสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงาน , สนับสนุนความหลากหลายและการมีส่วนร่วม , ทำตัวเป็นน้ำที่ไม่เต็มแก้ว unlearn และ relearn ได้ตลอดเวลา

5. Employee Well-being

ในภาวะที่ต้องเผชิญกับโรคระบาดและความกดดันกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน สิ่งที่องค์กรควรให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกก็คือสุขภาพและความเป็นอยู่ของคนในองค์กรให้ครอบคลุมมากขึ้น จากที่เคยมองแค่สุขภาพกาย ไม่ว่าจะเป็นความเครียดความกดดันที่มาจากหน้าที่และเนื้องานที่รับผิดชอบ ความมั่นคงทางการเงิน สังคมการทำงาน วิถีชีวิต ฯลฯ เพราะสิ่งเหล่านี้จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงาน

โดยองค์กรควรเปิดพื้นที่ให้พนักงานเข้ามาแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมในนโยบาย well being รวมถึงกล้าที่จะปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานบางอย่างที่อาจส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของพนักงาน เช่น การยกเลิกค่านิยมการทำงานหนักและหันมาให้ความสำคัญกับ work-life balance , การพิจารณาการ work from home แม้ผ่านช่วงโรคระบาดมาแล้ว เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรค ลดความเครียดจากการเดินทางและสร้างสมดุลชีวิตให้เพิ่มมากขึ้น หรือการส่งเสริมการสื่อสารกับพนักงานด้วย empathy เพื่อสร้างบรรยากาศการทำงานที่เป็นแบบรับฟังและช่วยเหลือกัน เป็นต้น วิธีเหล่านี้นอกจะเสียค่าใช้จ่ายไม่มากแล้ว ยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของพนักงานในระยะยาวได้อีกด้วย

ที่มา :https://www.marketingoops.com/news/5-trends-hr-2021/

 367
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์