062-310-6964     sale@getmycrm.com    

สร้างแต้มต่อธุรกิจ ด้วย Tax Planning

สร้างแต้มต่อธุรกิจ ด้วย Tax Planning



บัญชีกับภาษีเป็นของคู่กัน หาก SME มีความรู้เรื่องบัญชี แต่ไม่รู้เรื่องภาษีก็คงไม่ได้ เนื่องจากจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการวางแผนภาษีอย่างชาญฉลาด เพื่อการประหยัดที่มากกว่า

     เพื่อนำพา SME ออกจากมุมมืดหรือพื้นที่สีเทาของการหลบเลี่ยงภาษี มาสู่เส้นทางการเสียภาษีอย่างถูกต้องและประหยัด จรัญญา แสงสุขดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แท็กซ์ สเปเชียลลิสท์ จำกัด จึงได้มาแชร์ประสบการณ์อันมีค่าในหัวข้อ เทคนิควางแผนภาษีอย่างไรให้ประหยัดกว่า ในงานสัมมนา K SME Accounting & Tax Day โดยธนาคารกสิกรไทย



ตั้งมายด์เซ็ตถูก ช่วยประหยัดภาษี  

     ต้องยอมรับว่าปัญหาของ SME ที่ผ่านมาคือไม่อยากเสียภาษี อันเป็นที่มาของกระบวนการหลบรายได้ แต่งกำไร ทำบัญชีหลายชุดตามมา จรัญญากล่าวว่า วันนี้เจ้าของธุรกิจยังคงมีทางเลือก เพียงแค่มีมายด์เซ็ตที่จะทำทุกอย่างให้ถูกต้อง ซึ่งเพียงแค่คิดที่จะทำให้ถูกก็สามารถประหยัดเงินที่ต้องเสียไปอย่างน้อยก็เบี้ยค่าปรับ 2 เท่าแล้ว แถมยังไม่ต้องเสี่ยงคุกเสี่ยงตะรางอีก

     “การทำบัญชีชุดเดียวเริ่มต้นได้เลยที่เจ้าของธุรกิจ เพราะภาษีเป็นเรื่องของนโยบาย ไม่เกี่ยวกับพนักงานบัญชี”
หลักในการวางแผนภาษีอย่างง่ายคือ สิ่งใดที่ต้องทำให้ถูกต้องก็ต้องทำให้ถูกไว้ก่อนเสมอ เช่น ทุกครั้งที่ขายสินค้าได้ หากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก็ต้องออกใบกำกับภาษีตามที่กำหนด จะอ้างว่าไม่ทราบไม่ได้ หรือแม้แต่การที่ลูกค้าไม่เอาบิล หรือซื้อสินค้ามาโดยไม่มีบิล เพียงเพราะใครๆ เขาก็ทำกัน SME ก็ต้องยืนหยัดทำในสิ่งที่ถูกต้อง เพื่อที่จะได้ไม่ต้องไปเหนื่อยพิสูจน์ให้กรมสรรพากรเห็นว่างบการเงินที่ยื่นไปนั้น ตลอดจนรายได้และกำไรที่โชว์เป็นความจริง ไม่ใช่ความเชื่อ

     ทั้งนี้ หากไม่แน่ใจในประเด็นใดที่อาจส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนของธุรกิจ สามารถเขียนจดหมายไปขอคำปรึกษาจากกรมสรรพากรได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด เพียงอาจใช้ระยะเวลารอนานพอสมควรเท่านั้น



วางแผนภาษีดี รับประโยชน์เต็มๆ

     สำหรับสิ่งที่จำเป็นต้องรู้เพื่อการวางแผนภาษี ในกรณีที่ทำธุรกิจแบบบุคคลธรรมดา เงินได้ที่ต้องเสียภาษี คือ เงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับมาทั้งหมด เช่น รางวัลที่ได้รับมาในรูปแบบต่างๆ เช่น ตั๋วโดยสารท่องเที่ยว ทองคำ ซึ่งผู้มอบรางวัลได้เสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายไว้ นี่คือเงินได้ที่ต้องระมัดระวัง

     จรัญญากล่าวว่า ผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดานั้นสามารถบริหารการเสียภาษีได้ 2 แบบ คือ หนึ่ง ถ้าไม่อยากทำบัญชี ไม่อยากเก็บเอกสาร ให้เลือกวิธีหักต้นทุนเหมา ปัจจุบันสามารถหักต้นทุนเหมาได้ 60 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าต้นทุนของ SME มากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ สามารถเลือกบริหารภาษีโดยหักต้นทุนตามจริงได้ แต่ต้องเก็บใบเสร็จทุกใบเอามาลงเป็นรายจ่าย

     แต่กรณีที่มีเงินได้ตั้งแต่ 120,000 บาท ให้นำเงินได้นี้มาคูณด้วย 0.005 เพื่อหาจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระ หากภาษีที่คำนวณได้น้อยกว่า 5,000 บาท ให้เสียตามวิธีคำนวณหักด้วยต้นเหมาหรือต้นทุนตามจริง แล้วแต่ตัวใดจะสูงกว่า

     คำถามที่ตามมาคือ เมื่อไรถึงจะเป็นจังหวะเหมาะที่คนค้าขายออนไลน์ หรือผู้รับเหมาก่อสร้างในนามบุคคลธรรมดา จะแปลงร่างเป็นบริษัทจำกัด เพราะอัตราภาษีของบุคคลธรรมดาสูงกว่านิติบุคคลที่เสียภาษี 20 เปอร์เซ็นต์ อัตราเดียว อย่างไรก็ดี ประโยชน์ของการทำธุรกิจแบบบุคคลธรรมดาในแง่ของการวางแผนภาษีก็มี นั่นคือค่าลดหย่อน และการนำเอกสารการถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไปลดภาษีปลายปีได้ แต่หากมีการขาดทุนเกิดขึ้น ตัวเลขนั้นจะไร้ประโยชน์ทันที กรณีที่เป็นนิติบุคคล สามารถยกผลขาดทุนไปหักออกจากกำไรในอนาคตได้ 5 ปี นี่เป็นเรื่องที่ SME ต้องชั่งน้ำหนักดีๆ ว่ารูปแบบใดจะให้ประโยชน์ทางภาษีกว่ากัน



ทุกบาทต้องเป็นรายจ่ายทางภาษี

     ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ดี จรัญญาแนะว่าสิ่งสำคัญคือ SME ต้องรู้จักบริหารรายจ่ายที่ใช้ไม่ได้ หรือรายจ่ายต้องห้าม ซึ่งมีทั้งหมด 19 รายการ ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าในงบการเงินไม่ควรจะมีรายจ่ายต้องห้ามอยู่เลย เพราะรายจ่ายประเภทนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอ ดังนั้น จึงควรหาวิธีหยุดหรือลดจำนวนลงจะเป็นดีที่สุด

     “หลักการที่ SME ควรยึดเป็น KPI ขององค์กรเลยคือ รายจ่ายทุกบาทที่เสียไปต้องสามารถเป็นรายจ่ายทางภาษีอากรได้ กล่าวคือ เป็นรายจ่ายที่เกิดขึ้นจริง ใช้เพื่อประโยชน์ของกิจการ พิสูจน์ผู้รับได้ และต้องไม่ใช่ใบกำกับภาษีปลอม” 

     การบริหารเอกสารรายจ่ายก็สำคัญ หากเจ้าของธุรกิจบอกกล่าวแก่ทุกคนในองค์กรเกี่ยวกับเอกสารการเบิกจ่ายอย่างชัดเจน ทั้งยังมีฝ่ายบัญชีที่แข็งแกร่ง คอยสแกนบิลต่างๆ ที่เข้ามาก่อนที่จะเบิกจ่ายตามจริง ก็จะช่วยองค์กรประหยัดภาษีไปได้มาก เช่น เอกสารที่นำมาเบิกจ่ายทุกครั้งควรเป็นใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ ไม่ควรเป็นใบกำกับภาษีอย่างย่อที่ทำให้บริษัททิ้งเงิน VAT ไปเปล่าๆ ขณะที่การจ่ายเงินควรจ่ายด้วยเช็คหรือเงินโอน จะช่วยประหยัดภาษีได้มากกว่า

     นอกจากนี้ จรัญญาแนะว่า อย่าทิ้งสินค้าหมดอายุหรือเสื่อมสภาพ ลูกหนี้ที่เก็บเงินไม่ได้ และสินค้าหาย ไปโดยเปล่าประโยชน์ กรณีสินค้าหมดอายุหรือเสื่อมสภาพสามารถทำลายทิ้ง เพื่อลงต้นทุนที่เกิดขึ้นเป็นรายจ่ายได้ ส่วนลูกหนี้ที่เก็บเงินไม่ได้ สามารถใช้กระบวนการตัดหนี้สูญเพื่อลงเป็นรายจ่าย หากปีหน้าเก็บเงินได้จึงค่อยใส่เป็นรายได้ต่อไป สำหรับกรณีสินค้าหาย หากมีหลักฐานว่าหายจริง ควรดำเนินการแจ้งความให้ถูกต้อง โดยถือว่าผลเสียหายของกิจการนั้นเป็นรายจ่ายได้

     และนี่เป็นตัวอย่างของการวางแผนภาษีที่ไม่เพียงถูกต้อง แต่ยังช่วยให้ SME ประหยัดและได้ประโยชน์ด้วย


ที่มา: kasikornbank

 592
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์