ไม่ว่าคนที่เปิดมาอ่านบทความนี้จะเป็นใคร ทั้งผู้มีรายได้แล้วเสียภาษีทุกปี หรือผู้มีรายได้ถึงเกณฑ์เสียภาษี แต่ยังไม่อยู่ในระบบที่ถูกต้องก็ตาม บทความนี้จะทำให้คุณตระหนักและรู้สึกถึงการวางแผนคำนวณภาษีมากขึ้น เพราะในความเป็นจริงแล้ว ภาษีที่เราเสียไป หรือกำลังจะต้องเสีย หรือเลี่ยงที่จะไม่เสียมาโดยตลอดนั้น สามารถทำให้เสียภาษีน้อยลงอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพิ่มเงินกลับเข้ากระเป๋าของคุณได้มากขึ้น ด้วยเทคนิคดี ๆ 4 ข้อเกี่ยวกับ “วิธีลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา”
โดยธรรมชาติก่อนจะหาวิธีลดหย่อนภาษี คุณจำเป็นต้องมีเงินได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนทั้งหมดแล้วถึงเกณฑ์ที่ต้องนำมาคำนวณภาษีเสียก่อน นั่นแปลว่าเมื่อหักทุกอย่างครบแล้ว ต้องมีเงินได้สุทธิ 150,001 บาท ขึ้นไป ค่าลดหย่อนภาษีจึงจะมีประโยชน์นั่นเอง
เคล็ดไม่ลับข้อแรกหากต้องการลดหย่อนภาษี จะต้องเข้าใจวิธีคำนวณภาษีอย่างถูกต้อง ซึ่งสูตรในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ
(รายได้ – รายจ่าย) – ค่าลดหย่อนภาษี = เงินได้สุทธิ
เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี = ภาษีที่ต้องจ่าย
จากสูตรนี้เห็นได้ว่ากว่าจะได้จำนวนภาษีที่ต้องจ่ายจริง จะต้องรู้จักใส่วนของ “รายได้” ในทางภาษีเรียกว่า เงินได้พึงประเมิน 8 ประเภท แต่ละประเภทนำมาหัก “รายจ่าย” ได้แตกต่างกัน
ยกตัวอย่างรายได้ประเภทที่ 1 (เงินเดือน) หักรายจ่ายได้ 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท เป็นต้น
หลังจากหักรายจ่ายแล้วจึงจะนำ “ค่าลดหย่อนภาษี” มาหักลบเพื่อให้ได้ “เงินได้สุทธิ” เมื่อ “เงินได้สุทธิ” ตั้งแต่ 150,001 บาทขึ้นไป จึงนำไปคูณอัตราภาษี ออกมาเป็นภาษีที่ต้องจ่าย
จะเห็นได้ว่าการเข้าใจวิธีคำนวณภาษี เป็นเรื่องแรก ๆ ที่ควรทำความเข้าใจ แต่ละขั้นตอนมีวิธีการคำนวณและหลักเกณฑ์มากมาย เมื่อเข้าใจองค์ประกอบแล้วจำทำให้ทราบภาษีที่ต้องจ่ายจริง ทำให้การวางแผนลดหย่อนภาษีมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ค่าลดหย่อนภาษี เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ภาษีที่ต้องจ่ายน้อยลงอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งการแพลนตั้งแต่เนิ่นๆจะช่วยให้เราสามารถลดหย่อนภาษีได้ครบทุกเม็ด ซึ่งโดยปกติแล้วค่าลดหย่อนสามารถแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มย่อย แต่ในที่นี้ จะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นค่าลดหย่อนภาษีที่ติดตัวมา ต่อมาเป็นกลุ่มค่าลดหย่อนภาษีที่เป็นการลงทุนเพิ่มและกลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจ และสุดท้ายเป็นกลุ่มค่าลดหย่อนภาษีการบริจาค
ค่าลดหย่อนภาษีจากภาระติดตัว
เป็นกลุ่มค่าลดหย่อนภาษีที่เกิดจากตัวเราเอง หรือคนที่อยู่ในความดูแลของเรา นั่นก็คือ ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัว ค่าลดหย่อนภาษีคู่สมรส ค่าลดหย่อนภาษีบุตร นอกจากนี้ก็ยังมีในส่วนของค่าลดหย่อนภาษีบิดามารดา ค่าลดหย่อนภาษีฝากครรภ์ ค่าลดหย่อนภาษีการดูแลผู้พิการ รวมไปถึงลดหย่อนภาษีเบี้ยประกันของตัวเองและคนที่เราดูแล ทั้งหมดเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่ผู้เสียภาษีต้องรับผิดชอบตลอดทั้งปีอยู่แล้ว กฎหมายให้นำมาเป็นค่าลดหย่อนภาษีได้ตามเงือนไขที่กำหนด แต่จะต้องตรวจสอบให้ดีในเรื่องของเอกสารและเงื่อนไข
ค่าลดหย่อนภาษีด้านการลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจ
คือ ค่าลดหย่อนภาษีที่ทางผู้เสียภาษีบางคนอาจจะไม่ได้ใช้สิทธิ์ในส่วนนี้เนื่องจากระหว่างปีภาษีนั้นไม่ได้ทำการลงทุนไว้ เช่น กองทุน LTF กองทุน RMF ที่ควรจะต้องมีการวางแผนตลอดทั้งปีแบบการซื้อสะสม เพื่อเฉลี่ยราคาตลอดทั้งปี นอกจากนี้ยังมีค่าลดหย่อนภาษีที่เกิดจากรายการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การลงทุนในธุรกิจ Start Up
ค่าลดหย่อนภาษีการบริจาค
เป็นรายการค่าลดหย่อนภาษีลำดับสุดท้ายที่นำมาคิดหลังหักค่าลดหย่อนอื่น ๆ แล้ว ตัวอย่าง การบริจาคให้กับสถานพยาบาล หรือการบริจาคอื่น ๆ ที่เข้าข่าย เหมาะสำหรับใครที่วางแผนลดหย่อนภาษี และชอบการทำบุญบริจาค ก็จะสามารถใช้สิทธิ์ในส่วนนี้ได้
ก่อนออกไปใช้สิทธิ์ทางภาษีด้วยมาตรการช้อปช่วยชาติ มีขั้นตอน 3 ข้อที่จะต้องคิดก่อนนั่นก็คือ
ข้อที่ 1 คำนวนภาษีแล้ว มีภาษีที่ต้องจ่าย เพราะบางคนยังไม่ได้คำนวณ ก็รีบออกไปใช้สิทธิ์ทางภาษีเพื่อจะเอามาเพิ่มค่าลดหย่อนภาษี ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริงภาษีที่ต้องจ่ายเพียง 0 บาท เนื่องมาจากรายได้น้อย หรือไม่ก็รายจ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ มากพอแล้ว ถ้าเป็นเช่นนี้ก็ไม่จำเป็นต้องใช้สิทธิ์ช้อปช่วยชาติก็ได้
ข้อที่ 2 ถามตัวเองว่าสินค้าและบริการที่อยู่ในมาตรการช้อปช่วยชาติ ตัวเองจำเป็นต้องใช้หรือได้ประโยชน์จากสิ่งนั้นหรือเปล่า เพราะหากหน้ามืดซื้อของที่ไม่ได้ใช้ ดีไม่ดีค่าของที่เสียไป ไม่คุ้มกับภาษีที่จ่ายน้อยลง เช่น ซื้อของ 15,000 บาท นำไปเพิ่มค่าลดหย่อนภาษีแล้ว ทำให้ประหยัดภาษีลงเพียง 1,000 บาทเท่านั้น แถมของที่ซื้อก็ไม่ได้ใช้งาน แบบนี้ก็ไม่จำเป็นต้องใช้สิทธิ์
ข้อที่ 3 ศึกษาเรื่องของเงื่อนไขในการใช้สิทธิ์มาตรการช้อปช่วยชาติแต่ละรายการ ทั้งเรื่องของระยะเวลาที่เกิดค่าใช้จ่าย เพดานยอดใช้จ่ายที่นำมาหักลดหย่อนภาษีได้ รวมถึงเอกสารหลักฐานที่ทางกรมสรรพากรกำหนดให้ต้องนำมาแนบ เพราะหากไม่ศึกษาก็อาจทำให้ใช้สิทธิ์ไม่ได้
ข้อนี้อาจไม่ใช่วิธีลดหย่อนภาษีโดยตรง แต่มีคนก็ตกม้าตายอยู่บ่อย ๆ หลายคนมีความพยายามในการศึกษาเรื่องของภาษีและศึกษาวิธีลดหย่อนภาษีมาเป็นอย่างดี แต่กลับไม่ทราบเรื่องของกรอบระยะเวลาในการยื่นแบบภาษี ทำให้เลยช่วงยื่นภาษีในปีภาษีนั้น หรือผัดวันประกันพรุ่งจนยื่นแบบฯ ไม่ทัน หรือบางคนเตรียมตัวไม่ทัน ทั้งในเรื่องของการคำนวณและการเตรียมเอกสาร
ซึ่งการชำระภาษีไม่ทันตามกำหนดระยะเวลา หรือชำระไม่ถูกต้อง มีโทษที่ต้องได้รับ ขั้นแรกคือต้องเสียค่าปรับโดยคำนวณเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือไม่ยื่นแบบแสดง ภ.ง.ด.90, 91 และ 94 มีโทษทางอาญา ปรับไม่เกิน 2,000 บาท และโทษมากขึ้นไปอีกในกรณีจงใจไม่ยื่นภาษี มีโทษทั้งจำและปรับ ดังนั้นเคล็ดลับการประหยัดภาษีที่สำคัญคือ ดูกรอบระยะเวลา และไม่เลี่ยงภาษีดีที่สุด
หลายคนมีมุมมองเกี่ยวกับการจ่ายภาษีที่ไม่ดี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการเสียภาษีก็เป็นหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดให้ผู้มีรายได้ต้องจ่าย อีกทั้งวิธีการลดหย่อนภาษีอย่างถูกกฎหมายก็มีมากมาย อย่าง 3 เคล็ดลับดี ๆ ที่เรานำมาเสนอ หวังว่าจะมีประโยชน์และช่วยให้ประหยัดค่าภาษีมากขึ้น
ที่มา: