062-310-6964     sale@getmycrm.com    

การเดินทางของธุรกิจ ที่อาจจะไม่กลับไปเหมือนเดิมจากโควิด-19

การเดินทางของธุรกิจ ที่อาจจะไม่กลับไปเหมือนเดิมจากโควิด-19

การเดินทางท่องเที่ยวเป็นส่วนสำคัญของระบบเศรษฐกิจ กระตุ้นให้เกิดธุรกิจต่อเนื่องหลายประเภท สนับสนุนให้เกิดการจ้างงาน และเป็นหัวจักรหารายได้ของหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะการเดินทางของภาคธุรกิจ ที่มีจุดประสงค์เพื่อทำงาน ทำธุระ เช่น ประชุม สัมมนา ติดต่อธุรกิจ เจรจาการค้า รักษาความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจกับคู่ค้าและลูกค้า ร่วมงานนิทรรศการ ฯลฯ นับเป็นส่วนสำคัญของการเดินทางทั่วโลก นักเดินทางกลุ่มนี้เป็นกลุ่มมีศักยภาพ ใช้จ่ายต่อหัวสูง มีการเดินทางจำนวนมาก หลายครั้งเดินทางเป็นหมู่คณะ

การระบาดของโควิด-19 กระทบการเดินทางทั่วโลก รวมถึงการเดินทางของภาคธุรกิจ ตัวอย่างเช่น ปีที่แล้วงบเดินทางของบริษัทในอเมริกาปรับลดลงมากถึง 90% การเดินทางของภาคธุรกิจที่ลดลงส่งผลต่อการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจทั่วโลก

จากการประเมินของ Global Business Travel Association (GBTA) โควิด-19 ทำให้การเดินทางของภาคธุรกิจในปี 2020 หดตัว 52% ซึ่งนับว่าสูงมาก สูงกว่าตอนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกช่วงปี 2008 ถึง 10 เท่า หากแยกเป็นรายภูมิภาค พบว่ายุโรปหดตัวมากสุดที่ 78% อเมริกาเหนือหดตัว 60% เอเชียแปซิฟิกหดตัว 48%

อย่างไรก็ตาม แม้โดนกระทบจากโควิด-19 มูลค่าตลาดการเดินทางของภาคธุรกิจทั่วโลกในปี 2020 ยังสูงถึง 695,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ประเทศไทยในฐานะที่พึ่งพาการท่องเที่ยวสูง รวมถึงคาดหวังสูงจากตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มธุรกิจ จึงได้รับผลกระทบในช่วงที่ผ่านมามาก โรงแรมหลายแห่งเจ๊ง หลายแห่งต้องขายกิจการ ปลดคนงาน ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น สายการบิน สปาและนวดแผนไทย ภัตตาคารและร้านอาหาร ต่างได้รับผลกระทบรุนแรง

การมาของวัคซีนจึงเป็นความหวังสำคัญของทุกประเทศในการฟื้นฟูภาคท่องเที่ยว ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้กลับมา

คำถามสำคัญคือ สำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่มธุรกิจหรือมีวัตถุประสงค์เพื่อทำงาน จะกลับมาเดินทางเมื่อใด เนื่องด้วยนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ น่าเป็นกลุ่มแรกๆ ที่กลับมาเดินทาง เพราะมีกำลังจ่าย และมีภารกิจเรื่องงาน เทียบกับนักท่องเที่ยวทั่วไป ที่รอดูสถานการณ์ ให้มั่นใจเรื่องความปลอดภัย และมีมาตรการระหว่างประเทศที่ชัดเจนก่อน

สอดคล้องกับผลสำรวจของ CHUBB ในพนักงานที่ต้องเดินทางเป็นประจำเพื่อทำธุรกิจ สามในสี่ให้ข้อมูลว่าการไม่สามารถเดินทางได้จากโควิด-19 ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับงานที่ต้องดูแลลูกค้าหรือคู่ค้าธุรกิจ

McKinsey ประเมินว่า หลังสถานการณ์โควิดดีขึ้น การเดินทางของภาคธุรกิจแต่ละประเภทจะกลับมาไม่พร้อมกัน โดย McKinsey แบ่งการเดินทางของภาคธุรกิจออกเป็น 4 กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีแนวโน้มดังนี้

กลุ่มแรก
กลุ่มจำเป็นต้องเดินทาง กลุ่มนี้มีหน้าที่ต้องไปติดต่อ ต้องไปอยู่หน้างานในต่างประเทศ เช่น ผู้จัดการโรงงาน ผู้ดูแลลูกค้า สำหรับกลุ่มนี้ หากสถานการณ์เปิดให้เดินทางได้เมื่อไร มีแนวโน้มเดินทางทันที มีสัดส่วนประมาณ 15% ในรายจ่ายการท่องเที่ยวของภาคธุรกิจปี 2019


กลุ่มสอง
กลุ่มที่มีแนวโน้มไม่กลับมาเดินทางอีกต่อไป กลุ่มนี้ในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวในการทำงานได้ดี พัฒนารูปแบบการทำงานผ่านช่องทางดิจิทัล มีการมอบหมายหน้าที่ให้หน่วยงานหรือบุคลากรในแต่ละประเทศท้องถิ่นทำหน้าที่แทน ซึ่งพบว่าการทำงานมีประสิทธิภาพไม่ด้อยลง แถมช่วยธุรกิจประหยัดต้นทุน สำหรับกลุ่มนี้ แม้สถานการณ์การระบาดดีขึ้น ก็ไม่กลับมาเดินทางอีกต่อไป โดยกลุ่มนี้คิดเป็นสัดส่วนราว 20%


กลุ่มสาม
กลุ่มเกี่ยวข้องกับงานด้านการจัดการความสัมพันธ์กับลูกค้า ให้ความสำคัญเรื่องพบปะดูแลลูกค้า กลุ่มนี้ในความจริงเดินทางหรือไม่เดินทางก็ได้ แต่มักถูกกระตุ้นจากคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน ถ้าคู่แข่งส่งพนักงานไปดูแลลูกค้าในต่างประเทศ เราก็ต้องส่งไปด้วย กลุ่มนี้มีสัดส่วนประมาณ 60% กลุ่มนี้จะเดินทางเมื่อสถานการณ์มีความชัดเจน ปลอดภัยเพิ่มขึ้น มีแนวปฏิบัติจากรัฐบาลแต่ละประเทศที่แน่นอน


กลุ่มสุดท้าย
กลุ่มรอดูสถานการณ์ไปก่อน กลุ่มนี้อยู่ในอุตสาหกรรมที่ไม่ต้องแข่งกับใครมากนัก มีสัดส่วนราว 5% หลักๆ ผู้เดินทางมาจากภาครัฐ องค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา ปรับรูปแบบการทำงานไปพอสมควร เช่น การจัดสัมมนาขององค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งคนต้องเข้าประชุมจำนวนมาก ที่ผ่านมาก็ปรับไปใช้ออนไลน์แทน กลุ่มนี้เนื่องจากภารกิจไม่เร่งด่วนและต้องเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก มีแนวโน้มดูสถานการณ์ รอให้ปลอดภัยชัดเจนอย่างยิ่งก่อน


กล่าวโดยสรุป จากการคาดการณ์ของ McKinsey การเดินทางท่องเที่ยวของภาคธุรกิจแต่ละกลุ่มมีแนวโน้มกลับมาไม่พร้อมกัน ในช่วงแรก แม้มีวัคซีนแล้ว ตัวเลขอาจกลับมาเพียง 15% ขณะที่ในอีก 2 ปีข้างหน้า (ปี 2023) ที่จำนวนนักท่องเที่ยวรวมทั่วโลกคาดว่าจะกลับมาสู่ระดับก่อนโควิด แต่นักเดินทางกลุ่มธุรกิจเสี่ยงหายไปถาวร 20% เทียบกับก่อนโควิด จากรูปแบบการทำงานของภาคธุรกิจที่เปลี่ยนไป

นอกจากนี้ จากสถานการณ์ล่าสุดที่มีการระบาดเพิ่มขึ้นของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกเพิ่มขึ้น พบว่า การเดินทางของภาคธุรกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าประมาณการเดิม ทุกธุรกิจมีแนวโน้มประเมินสถานการณ์ใหม่ รอให้มีความปลอดภัยเพิ่มมากกว่านี้ งานต่างๆ เช่น การแสดงสินค้านานาชาติขนาดใหญ่มีแนวโน้มถูกเลื่อนออกไปยาวขึ้น หรือจัดขนาดเล็กลง และเปลี่ยนเป็นแบบผสมออนไลน์แทน

ทั้งนี้จากผลสำรวจ Deloitte Corporate Travel Survey 2021 ถึงปัจจัยที่ผู้บริหารภาคธุรกิจใช้ในการตัดสินใจว่าจะให้มีการเดินทางหรือไม่ พบว่า 5 ปัจจัยแรกได้แก่ 1) จำนวนผู้ติดเชื้อที่ต่ำ 2) อัตราการฉีดวัคซีนของประชากร 3) สำนักงานของลูกค้าเปิดหรือยัง 4) ข้อกำหนดเรื่องการกักตัวที่ผ่อนคลายลง 5) สำนักงานของตนเองกลับมาเปิดได้หรือยัง

ทั้งนี้จะเห็นว่า ปัจจัยหลักส่วนใหญ่ที่ผู้บริหารใช้ตัดสินใจยังเป็นเรื่องมาตรการสาธารณสุขและความปลอดภัยทางสุขภาพเป็นสำคัญ ดังนั้นหากรัฐบาลไทยต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยวของนักเดินทางกลุ่มนี้ ก็ต้องสร้างความมั่นใจเรื่องสาธารณสุขให้สำเร็จ

ในโลกยุคหลังโควิด ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวของไทย โดยเฉพาะที่เน้นรองรับนักเดินทางกลุ่มธุรกิจ เช่น โรงแรม ศูนย์ประชุม สายการบิน ธุรกิจรถเช่า รวมถึงจังหวัดท่องเที่ยวต่างๆ ควรเข้าใจความเปลี่ยนแปลงนี้ เพื่อปรับตัวและเตรียมรับมือการท่องเที่ยวยุค New Normal ได้ดียิ่งขึ้น
 395
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์