ค้าขายออนไลน์ยุคหลัง COVID-19 จะเป็นอย่างไร ? ส่อง 10 เทรนด์ E-Commerce อยากประสบความสำเร็จต้องรีบลงมือ

ค้าขายออนไลน์ยุคหลัง COVID-19 จะเป็นอย่างไร ? ส่อง 10 เทรนด์ E-Commerce อยากประสบความสำเร็จต้องรีบลงมือ

แม้เราจะเห็นคนไทยคุ้นเคยกับ E-commerce หรือเชี่ยวชาญการใช้โซเชียลมีเดียมากขึ้น แต่เนื่องจากพฤติกรรมและความชื่นชอบมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ประเด็นนี้ คุณภาวุธ พงษ์วิทยภานุ Founder & CEO of TARAD.com ได้แสดงความคิดเห็นเอาไว้ว่า การค้าออนไลน์ในยุคหลัง COVID-19 จะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมชนิดที่ไม่ใช่เรื่องเดียวกันมาก่อน ทำให้คนค้าขายออนไลน์ต้องปรับตัวเพื่อรับสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเพื่อไม่ให้เสียโอกาส

โดยเทรนด์การค้าออนไลน์หลังจากนี้ จะกลายเป็นเทรนด์ใหม่ที่น่าสนใจ แบ่งเป็น 10 เทรนด์ ดังนี้

  1. Online Become Main Channel: ออนไลน์กลายเป็นเรื่องปกติ

จากนี้ต้องเรียกว่า Online First คือของจริง จะทำอะไร คิดอะไร การตลาดหรือไอเดียอะไรก็ตาม ตอนนี้ออนไลน์ต้องมาก่อนเพราะลูกค้าอยู่บนออนไลน์หมดแล้ว ดังนั้น คนขายจึงต้องปรับกระบวนการคิดใหม่ Customer Touch Point กระบวนการที่จะทำให้เกิดการขาย การโน้มน้าวลูกค้า ต้องทำให้ทั้งหมดเกิดขึ้นบนออนไลน์แล้ว แม้ว่าบางธุรกิจอาจจะยังไม่ได้อยู่บนออนไลน์แต่ก็กำลังถูกดันขึ้นมาสู่ออนไลน์แล้ว ประกอบกับช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ภาครัฐก็มีนโยบายกระตุ้นให้เมืองไทยเข้าสู่โลกออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะโครงการคนละครึ่ง, เราเที่ยวด้วยกัน, มาตรการเยียวยาต่าง ๆ ก็ทำให้เราได้เห็นพ่อค้าแม่ขายรถเข็นทั่วไป สามารถเข้าสู่การสแกนเพื่อรับจ่ายเงิน เรื่องนี้ทำให้ประชาชนไทยคุ้นเคยกับการใช้จ่ายในรูปแบบดิจิทัลมากขึ้นและกล้ากระโดดเข้าสู่การใช้จ่ายบนโลกออนไลน์ ซึ่งเมื่อลูกค้าเข้าสู่ออนไลน์ ธุรกิจจึงต้องเข้าสู่ออนไลน์ด้วย

  1. JSL Control Purchasing Power: E-marketplace ควบคุมกำลังซื้อผู้บริโภคอยู่หมัด

JSL ในที่นี้ หมายถึง JD, Shopee, Lazada ซึ่งขณะนี้บางกลุ่มธุรกิจสามารถควบคุมการซื้อของคนไทยได้อยู่หมัด เนื่องจากการทำโปรโมชันโดยเฉพาะเทศกาลชอปปิ้งที่เรียกว่า Double Day เช่น 9 เดือน 9 หรือ 11 เดือน 11 ที่ปัจจุบันได้ขยายไปจัดขึ้นแทบทุกเดือน กลายเป็นวันที่หลาย ๆ เลือกจะรอซื้อสินค้าในวันเหล่านื้ เพื่อรอโปรโมชัน รอคูปองลดราคา หรือรอเงื่อนไขจัดส่งสินค้าฟรี ประเด็นเหล่านี้ทำให้กำลังซื้อในช่วงใกล้เทศกาล Double Day เริ่มหายไป เพราะคนรอซื้อตอนมีโปรโมชัน หรือหากธุรกิจของคุณไม่ได้อยู่ในโลกออนไลน์นั่นยิ่งทำให้สูญเสียโอกาสครั้งใหญ่

หากมองให้ดี ประเด็นนี้จะทำให้เราเห็นว่าบรรดา Marketplace ต้องทุ่มเงินมหาศาลเพื่อกระตุ้นให้คนไทยหันมาซื้อสินค้าออนไลน์ ยกตัวอย่างปี 2562 ที่ Lazada ขาดทุนเกือบ 4,000 ล้านบาท ขณะที่ Shopee ก็ขาดทุนราว 5,000 ล้านบาท และ JD Central ที่ขาดทุน 1,500 ล้านบาท จะเห็นว่าแค่กลุ่ม JSL รวมกันก็มากกว่า 10,000 ล้านบาทแล้ว เพื่อกระตุ้นให้คนไทยหันไปชอปออนไลน์ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมคุณต้องดันธุรกิจตัวเองสู่ออนไลน์

  1. Logistics War > Speed Up E-commerce: ขายออนไลน์ทำขนส่งแข่งเดือด

การค้าออนไลน์ทำให้เกิดการแข่งขันของธุรกิจขนส่ง ปัจจุบันคนไทยมีตัวเลือกจากผู้ให้บริการที่มีมากขึ้นจากเดิมที่มีแค่ไปรษณีย์ไทย ทั้ง Kerry, Flash Express, Best Express, J&T ทำให้ยอดขายของไปรษณีย์ไทยลดลงเนื่องจากในกลุ่มธุรกิจมีคู่แข่งขันหน้าใหม่เกิดขึ้นหลายราย ถือเป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้คนซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้นเพราะการขนส่งทำได้ง่ายขึ้นด้วย จากเดิมส่งสินค้าหนึ่งชิ้นต้องเสียค่าใช้จ่าย 35 บาท แต่วันนี้เริ่มต้นที่ 9 บาท ก็ยังมีให้เห็น ดังนั้น หากคุณอยู่ในธุรกิจออนไลน์แล้วก็ควรจะเลือกใช้บริการขนส่งแบบกระจายตัวให้หลากหลาย

วันนี้ ธุรกิจอาหารกำลังเป็นอันดับ 1 ในด้าน E-commerce เพราะเป็นสิ่งที่ผู้คนต้องกินทุกวัน ซื้อทุกวัน ดังนั้น เมื่อมีอัตราการซื้อซ้ำทุกวัน จึงทำให้เกิดเทรนด์ซื้ออาหารเติบโตบน E-commerce

  1. Varity of E-payment > Easy to Get Money: อย่ามัวแต่รับเงินสด ช่องทางอื่นก็เงินเหมือนกัน

ใครค้าขายบน E-commerce แล้วยังปล่อยให้ลูกค้าต้องโอนเงินแบบเดิมคงไม่ได้แล้ว เพราะการซื้อสินค้าออนไลน์นั้นต้องการการชำระเงินที่หลากหลาย ดังนั้น ผู้ค้าจึงต้องรับชำระเงินด้วยช่องทางที่มากกว่าเงินสดหรือการโอน เช่น ชำระผ่านบัตรเครดิต เดบิต, การผ่อนชำระ, การชำระด้วย QR Code, การจ่ายบิล ณ จุดรับชำระ หรือ บริการรับชำระอัตโนมัติ ที่เหมาะกับบริการแบบจ่ายค่าสมาชิก เป็นต้น

ต้องยอมรับว่า การผ่อนชำระ เป็นการเพิ่มโอกาสในการที่แบรนด์จะเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น ไม่จำเป็นต้องเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ๆ เท่านั้น ยกตัวอย่างแบรนด์ที่มีการปรับตัวเรื่องนี้ เช่น ‘ร้านเจคิว ปูม้านึ่ง’ ที่เพิ่มช่องทางให้จ่ายด้วยเงินสด บัตรเครดิต หรือแม้แต่การผ่อนชำระก็ได้

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มช่องทางชำระเงินทำให้บางแบรนด์สามารถมีรายได้เพิ่มขึ้น จากเดิมที่มีรายได้หลักพันบาทเป็นหลักล้านบาท เพียงเพิ่มรูปแบบการรับชำระด้วยบัตรเครดิต หรือมีโปรโมชันผ่อนชำระ ซึ่งปัจจุบัน กรมสรรพากร ก็มีบริการ E-Tax Invoice เพื่อส่งใบเสร็จผ่าน SMS หรืออีเมล รับกับการจ่ายผ่านออนไลน์โดยไม่ต้องออกเอกสารเป็นกระดาษ ประหยัดต้นทุนให้ผู้ประกอบการด้วย

  1. Brand and Manufacturing Sell Direct to Consumer: เจ้าของแบรนด์ก็ขายตรงได้

ใครทำธุรกิจโรงงานต้องเปลี่ยนวิธีคิดโดยสิ้นเชิง จากเดิมที่เป็นผู้ผลิตที่อาศัยช่องทางขายผ่านตัวแทนแบบเดิม เพราะปัจจุบันคุณสามารถสร้างทีมขายออนไลน์เอง เรียกว่าผลิตเองและขายเองได้โดยไม่ต้องเสียค่า GP (Gross Profit) ให้กับตัวแทนขายอีกต่อไป ทำให้สามารถลดราคาสินค้าลงหรือทำโปรโมชันส่งเสริมการขายได้มากขึ้น และทำให้คุณได้เข้าถึงข้อมูลลูกค้าได้มากกว่าเดิม สามารถนำไปทำ Retention Marketing หรือ CRM ได้เอง ทำการตลาดได้แม่นยำขึ้น เรื่องนี้จึงเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นจนกลายเป็นเทรนด์ที่เรียกว่า D2C (Direct to Consumer)

  1. Food Delivery will Cover all Country Wide: ธุรกิจร้านอาหารก็ต้องขยับตัว

คนทำธุรกิจร้านอาหารต้องเปลี่ยนวิธีคิด จากที่ต้องมีหน้าร้าน มีสาขา มีครัว ขายแฟรนไชส์ แบบการทำ Food Chain กำลังเปลี่ยนสู่รูปแบบ Cloud Kitchen เพื่อขยายธุรกิจและสาขาได้อย่างไม่จำกัด ธุรกิจอาหารจึงสามารถขยายสาขาไปทั่วประเทศได้โดยไม่ต้องมีหน้าร้านเป็นของตัวเอง แค่มีทีมงาน มีสูตรอาหาร ใช้บริการ Cloud Kitchen ก็เปิดขายอาหารผ่านแอปพลิเคชันได้ทันที ซึ่งใช้ต้นทุนในการดำเนินงานต่ำมากกว่าเดิม

  1. Giant Tech Move to E-commerce: กระโดดตามยักษ์ใหญ่ลงสนามขายออนไลน์

ยักษ์ใหญ่ลงมาอยู่ในสนาม E-commerce เยอะแล้ว ทั้ง Facebook Marketplace, LINE MyShop, Google Shopping ต่างเข้ามาอยู่ในสนาม Social Commerce กันหมดแล้ว จึงไม่มีเหตุผลที่คุณจะไม่พาแบรนด์และสินค้าของคุณไปหาผู้บริโภค

  1. Online Advertising become Normal: โฆษณาออนไลน์คือสิ่งสามัญ อยากเด่นต้อง Beyond

การทำโฆษณาออนไลน์ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อีกต่อไป แต่กลายเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนต้องมี ดังนั้น คุณต้องทำให้เหนือกว่าการลงโฆษณาออนไลน์ทั่วไป คือ เพิ่มประสิทธิภาพให้มากขึ้นในราคาที่จ่ายเท่าเดิม ต้องเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้แม่นยำขึ้น เข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ได้ดีขึ้น ซึ่งปัจจุบันสามารถเรียนรู้ข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญที่แชร์ประสบการณ์ผ่านโลกออนไลน์ หรือลงเรียนหลักสูตรออนไลน์ใหม่ ๆ ก็ได้

  1. Fragmented Market and Customer: หากลุ่มเป้าหมายให้เจอ ทำให้แม่นยำขึ้น

โอกาสในการโฆษณาเพื่อเข้าถึงลูกค้าในปัจจุบันแตกต่างไปจากเดิม เพราะแต่ละกลุ่มล้วนมีสื่อและหน้าจอเป็นของตัวเอง ทำให้ตลาดอยู่ภาวะที่แตกย่อยออกไปเป็นกลุ่มเล็ก ๆ จำนวนมาก ไม่ใช่กลุ่มก้อนใหญ่ ๆ เหมือนเดิม แต่ก็มีสังคมออนไลน์เป็นตัวเชื่อมโยงให้แต่ละกลุ่มเข้ามาเจอกันได้ง่ายขึ้น ดังนั้น เทคนิคการขายสินค้าในตอนนี้จึงไม่จำเป็นต้องทำให้คนทั้งประเทศรู้จักเรา เพราะวิธีดังกล่าวทำให้เราต้องใช้เงินมหาศาล แต่การทำตลาดในวันนี้ทำให้เราใช้เงินน้อยลงแต่มีความแม่นยำมากขึ้น

  1. People Not Believe in Advertising Anymore, Influencer Commerce: โฆษณาธรรมดาไม่พอ ต้องใช้ Influencer เข้าช่วย

โลกของการตลาดในวันนี้ คือ คนไม่เชื่อโฆษณาอีกแล้ว ดังนั้น การซื้อสื่อโฆษณาโดยการพูดเองจึงไม่ทำให้คนเชื่อและอยากซื้อสินค้าอีกต่อไป แต่แค่ทำให้คนรู้ว่ามีสินค้าเหล่านั้นเกิดขึ้น และหันไปเชื่อถือ Influencer จึงทำให้ Influencer Marketing แพร่หลายมากเพราะนอกจากโน้มน้าวใจผู้คนได้ดี ก็ยังมีหลายกลุ่มให้เลือกตามความต้องการและงบประมาณ

 
ที่มา : https://www.marketingoops.com/

 269
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์