แน่นอนว่า COVID-19 สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ทั้งในเชิงธุรกิจและพฤติกรรมผู้บริโภค ซึ่งการระบาดแต่ละระลอกก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแตกต่างกันไป โดยปัจจุบัน ประเทศไทยยังคงอยู่ในระยะการแพร่ระบาดระลอก 4 คุณสงสัยหรือไม่ ว่าพฤติกรรมและความคิดเห็นของผู้บริโภคชาวไทยนั้น เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง
จากข้อมูลล่าสุดพบว่า คนไทยยังมีพฤติกรรมระมัดระวังในการใช้จ่าย ซึ่งแน่นอนว่ากระทบต่อธุรกิจและสินค้ากลุ่มต่าง ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ล่าสุด มีการเปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจในประเด็น “วิกฤตการณ์ COVID 4 ระลอก กับ การเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์และทัศนคติที่ส่งผลกระทบต่อตลาด เศรษฐกิจ และสังคม พร้อมปัจจัยเพื่อการปรับตัวและวางแนวทางให้กับภาคธุรกิจและภาครัฐ” โดยบริษัทวิจัยการตลาด อิปซอสส์ ได้สำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคเมื่อเดือน มิ.ย. จาก 6 ประเทศในภูมิภาค SEA ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย จากผู้ตอบแบบสำรวจที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป รวม 3,000 คน โดยพบข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้
– ท่ามกลางการระบาดระลอก 4 มีคนไทยที่ตอบแบบสำรวจเพียง 20% ที่รู้สึกว่าสภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น (จากตัวเลขเดิม 11% ในระลอก 3) แต่ส่วนใหญ่ก็เชื่อว่าสถานการณ์อาจดีขึ้นภายใน 6 เดือนข้างหน้า
– คนไทย มีความกังวลเกี่ยวกับสถานะการเงินของตนเอง สูงกว่าในระดับภูมิภาค โดยมีเพียง 64% ที่มองว่าสถานะการเงินตนเองอยู่ในระดับดีหรือปานกลาง ขณะที่ ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 76%
– พฤติกรรมการใช้จ่ายของคนไทยจึง เลือกจ่ายเงินเฉพาะสินค้าที่มีความจำเป็น
– สินค้าที่มีมูลค่าสูงอย่าง รถยนต์ บ้าน ยังเป็นสินค้าที่คนไทยเลือกชะลอการใช้จ่าย ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้มีแนวโน้มดังกล่าวตั้งแต่ COVID-19 ระลอก 3
แม้ 80% ของคนไทยที่ตอบแบบสำรวจในครั้งนี้จะระบุว่า ยังคงใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง แต่…
– 3 อันดับแรกที่คนไทยซื้อมากขึ้น คือ วัตถุดิบสำหรับปรุงอาหารที่บ้าน (52%), ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด (41%), ของใช้ส่วนตัว (27%)
– เมื่อถามว่า จะตัดสินใจซื้อสินค้ารุ่นใหม่หรือแบรนด์ใหม่ ๆ ที่ไม่ได้ใช้งานเป็นประจำหรือไม่ พบว่ามีค่าเฉลี่ยเพียง 32% ดังนั้น ช่วงนี้อาจยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมหากแบรนด์จะเปิดตัวอะไรใหม่ ๆ
– ส่วนสินค้า 3 อันดับแรก ที่คนไทยตอบว่าไม่ซื้อเลย คือ แอลกอฮอล์ (20%), วิดีโอเกมส์ (16%), ของเล่น (14%)
– การเดินทางไปเยี่ยมครอบครัว ญาติพี่น้อง (41%)
– ท่องเที่ยวในประเทศ (32%)
– ไปร้านอาหาร (28%)
– ใช้บริการขนส่งมวลชน (26%)
– ไปยิม หรือสถานออกกำลังกาย (24%)
– เข้าร่วมกิจกรรมด้านวัฒนธรรม (22%)
– ท่องเที่ยวต่างประเทศ (20%)
เมื่อเทียบกับช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 ช่วงนี้ คนไทย นิยมทำกิจกรรมต่าง ๆ ดังนี้
– ใช้เวลาบนโซเชียลมีเดียมากขึ้น (63%)
– ใช้เวลาอยู่กับครอบครัว (56%)
– ชอปปิ้งออนไลน์ (49%)
– ดูสตรีมมิ่งคอนเทนต์ (42%)
– ใช้จ่ายแบบ Cashless ผ่านร้านค้า (38%)
– มองหางานอดิเรกใหม่ (37%)
– อ่านหนังสือและนิตยสาร (24%)
– ทำงาน หรือเรียนหนังสือ (18%)
– สังสรรค์กับเพื่อน หรือเพื่อนร่วมงาน (9%)
ค่าเฉลี่ยของผู้บริโภคใน SEA ระบุว่า 82% เคยได้ยินเกี่ยวกับ Livestream Shopping และ 56% เคยเข้าใช้งานมาก่อน โดยระบุว่า 36% เคยซื้อแล้ว และอีก 14% ตั้งใจว่าจะซื้อ
โดยสินค้าที่พวกเขาเคยซื้อผ่าน Livestream ได้แก่ เครื่องแต่งกายและรองเท้า (51%), อาหาร (15%), ของใช้ส่วนตัวและความงาม (14%), สินค้าในครัวเรือน (10%), เครื่องดื่ม (4%), ของเล่นและเกม (3%) และสินค้าอื่น (2%)
มีคนไทยถึง 50% ที่ตอบแบบสำรวจนี้ ระบุว่ารู้สึกแย่หรือเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า โดยตัวเลขดังกล่าวเป็นสถิติสูงสุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่น และมี 39% ที่ระบุว่ารู้สึกโอเค ส่วนอีก 11% รู้สึกมีความสุขมากขึ้น
ขณะที่ ภาพรวมของ SEA พบว่ามี 39% รู้สึกแย่หรือเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า, 47% รู้สึกโอเค และ 14% รู้สึกมีความสุขมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นความคาดหวังที่คนไทยมีต่อภาครัฐ ภายใน 6 เดือนจากนี้ เช่น มาตรการป้องกันพนักงานให้ปลอดภัยและพ้นจาก COVID-19, ควบคุมราคาสินค้าบริการและภาวะเงินเฟ้อ, มาตรการช่วยเหลือและสนับสนุนด้านการเงินแก่ครัวเรือน, สร้างงานและคุ้มครองการจ้างงาน และลดความเหลื่อมล้ำทางการเงิน เป็นต้น
รวมถึง ความคาดหวังต่อภาคเอกชน ภายใน 6 เดือนจากนี้ เช่น ป้องกันพนักงานให้ปลอดภัยจาก COVID-19, ควบคุมราคาสินค้าและบริการ, จ่ายค่าจ้างอย่างเป็นธรรม, ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นด้วยการสร้างงาน และกระตุ้นเศรษฐกิจภายในท้องถิ่นด้วยการอุดหนุนสินค้าในชุมชน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม 80% ของคนไทยที่ตอบแบบสำรวจนี้ยังมองว่า ธุรกิจขนาดใหญ่ได้ให้ความร่วมมืออย่างเหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดแล้ว
ที่มา : https://www.marketingoops.com/