เปิดเหตุผลทำไม Multicultural Marketing ถึงสำคัญต่อการขยายกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ในยุคนี้

เปิดเหตุผลทำไม Multicultural Marketing ถึงสำคัญต่อการขยายกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ในยุคนี้

     ในยุคที่ทุกคนสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี ในประเทศไทยเองก็มีอัตราการเคลื่อนย้ายของคนอย่างต่อเนื่องมานาน ไม่ว่าจะเป็นคนไทยด้วยกันเอง หรือประเทศเพื่อนบ้านที่หลั่งไหลเข้ามา และกลุ่มคนทำงานชาวต่างชาติสกิลเฉพาะทางที่ทำงานอยู่ในไทย สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยน่าคิดทั้งสิ้นในเชิงการตลาด

     บทวิเคราะห์ของ GOTTABE! ซึ่งเป็นเอเจนซี่ชื่อดังในอังกฤษ พูดว่า แบรนด์และธุรกิจต่างๆ เห็นความสำคัญของความหลากหลายทางเชื้อชาติ ทางวัฒนธรรมในปัจจุบันน้อยเกินไป หากดูจากตัวอย่างในสหราชอาณาจักร (UK) ที่มีชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์มากกว่า 9.3 ล้านคน หรือเป็น 14% ของประชากรในประเทศ

      อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทั่วโลกเต็มไปด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรมคล้ายกัน ไม่ใช่แค่ในประเทศโซนยุโรป หรือในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น

      ดังนั้น การตลาดเชิงความหลากหลายทางวัฒนธรรม (Multicultural Marketing) จึงมีความจำเป็นมากขึ้นในปัจจุบัน โดยผลสำรวจของ GOTTABE! ระบุว่า มากกว่า 50% ของประชากรต่างถิ่นที่อาศัยอยู่ในอังกฤษ ให้ความสนใจกับแบรนด์ที่ทำการตลาดและโฟกัสไปที่ความเป็นท้องถิ่นมากกว่าแบรนด์อื่น เช่น แพ็คเกจ, วิธีการสื่อสาร หรือภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร เป็นต้น

      ขณะเดียวมีผลสำรวจว่า คนจีนจากหลายๆ มณฑลที่เข้าไปทำงานในเมืองใหญ่ เช่น เซียงไฮ้, ปักกิ่ง, กวางโจว ฯลฯ ให้ความสำคัญกับการสื่อสารแบบท้องถิ่นมากกว่าความเป็นโมเดิร์น โดยเฉพาะการเลือกแคมเปญ หรือการสื่อสารเพื่อโปรโมตสินค้าใหม่ที่ใช้ culture ในการเอ็นเตอร์เท็นผู้คน ได้รับความสนใจมากขึ้นในปัจจุบัน

       ดังนั้น สิ่งที่สรุปได้จากบทวิเคราะห์ และตัวอย่างในประเทศเหล่านั้นสำหรับนักการตลาด ก็คือ
- การดีไซน์แพ็คเกจในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย (แต่ละวัฒนธรรม) เพื่อสร้างความสนใจ
- การสื่อสาร/ใช้ภาษาท้องถิ่น เพื่อโปรโมตสินค้าใหม่
- กำหนดกลยุทธ์ตามกลุ่มเป้าหมาย(ย่อย) ในแต่ละวัฒนธรรมเพื่อสร้างความประทับใจ
- เลือกแคมเปญเฉพาะกลุ่มตามวัฒนธรรมหรือชาติพันธุ์ สร้างการรับรู้อย่างทั่วถึง

   การให้ความสำคัญที่เฉพาะกลุ่มมากขึ้น โดยยึดถือทางวัฒนธรรมเป็นหลัก นอกจากจะสร้างการรับรู้ถึงแบรนด์ที่ทั่วถึงมากกว่าเดิมแล้ว ยังทำให้ผู้บริโภคเห็นว่าแบรนด์ต่างๆ เคารพและสร้างคุณค่าจากวัฒนธรรมของพวกเขาได้ ซึ่งการตลาดเชิงวัฒนธรรมจะช่วยให้เกิด #ความภักดีต่อแบรนด์ คล้ายๆ กันกับการทำการตลาดแบบ personalization นั่นเอง

   นอกจากนี้ ความหมายในทางจิตวิทยาการตลาดสำหรับ Multicultural Marketing ถือว่าเป็นการทำให้เกิดความรู้สึก #คุ้นเคย เป็นการสร้างกลยุทธ์การตลาด #ทางอารมณ์ โดยผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นก็คือ การแนะนำต่อ ซึ่งการตลาดแบบปากต่อปาก (Word of Mouth Marketing) ยังเป็นหนึ่งในวิธีการตลาดที่มีอิทธิพลมากที่สุด

    ขณะที่นักวิเคราะห์ยังพูดว่า การตลาดเชิงความหลากหลายทางวัฒนธรรม ยังเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่สอดคล้องกับ ROI หรือ การวัดผลตอบแทนจากการลงทุนได้ดี ถือว่าเป็นมาร์เก็ตติ้งที่ยั่งยืนอีกรูปแบบหนึ่ง


     ตัวอย่างแบรนด์ที่ใช้ Multicultural Marketing ที่น่าสนใจ และประสบความสำเร็จในแง่ของการสร้างการรับรู้ และพูดถึง เช่น
Adobe – “When I See Black”
เป็นโฆษณาที่โชว์ผลงานของครีเอเตอร์ #ชาวผิวสี ทั้ง 12 คนเพื่อสะท้อนให้เห็นว่า พื้นที่ของนักครีเอเตอร์ของ Adobe ไม่จำเป็นต้องระบุผิวสี หรือชาติพันธุ์ใดชาติพันธุ์หนึ่งเท่านั้น แต่เป็นพื้นที่ของทุกคน




Coca Cola – “America Is Beautiful”

เป็นแคมเปญโฆษณาจาก Coca-Cola ที่แสดงถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม ก่อนการแข่งขัน Superbowl ในปี 2014 ซึ่งในเนื้อหาจะเป็นนักแสดงที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและเชื้อชาติ ร่วมกันร้องเพลง ‘America the Beautiful’ ในหลายภาษาเพื่อเป็นตัวแทนของการเปลี่ยนแปลงของอเมริกาอีกครั้ง

 


    นี่เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้นที่หยิบมายกตัวอย่าง แต่ยังมีอีกหลายแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็น Adidas, Bumble, Fenty Beauty, Proctor and Gamble (P&G) ที่ต่างก็ทำการตลาดที่เล่นด้วยความหลากหลายทางชาติพันธุ์ได้ดีไม่แพ้กัน สิ่งเหล่านี้โชว์ให้เห็นว่า การตลาดในรูปแบบนี้จะค่อยๆ สร้างอิทธิพลมากขึ้นในยุคดิจิทัล ที่ไม่ว่าใครต่อใครก็เข้าถึงโลกจากมุมต่างๆ ได้ง่าย ซึ่งจะทำให้แบรนด์และธุรกิจสามารถขยายฐานลูกค้าได้มากขึ้น

ที่มา : https://www.marketingoops.com/


 287
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์