062-310-6964     sale@getmycrm.com    

7 เทรนด์อนาคตหลังจบ Covid-19

7 เทรนด์อนาคตหลังจบ Covid-19



หลังโควิด-19 จบลงโลกเราจะเปลี่ยนไปในรูปแบบไหนเป็นคำถามที่น่าคิด

    โควิด-19 ได้เร่งปฏิกิริยาให้โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วขึ้น ในหลายต่อหลายอย่างที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้า อาจจะถูกย่นระยะลง จนเห็นภาพชัดขึ้นในอนาคตอันใกล้

    ในงานสำรวจ Socio-economic trends that will strengthen and shape the future world โดยอิปซอสส์ นำเสนอเทรนด์อนาคตที่น่าสนใจ 7 เทรนด์ โดยเฉพาะเทรนด์เรื่อง “การจ้างงาน”

รายงานที่เรากล่าวมานี้ อิษณาติ วุฒิธนากุล ผู้อำนวยการฝ่ายลูกค้าองค์กร อิปซอสส์ (ประเทศไทย) สรุปให้เราฟังอย่างน่าสนใจ ดังนี้

 

1. Re shoring of Supply Chains: ย้ายฐานการผลิตกลับประเทศ

    ที่ผ่านมาบริษัทต่างสร้างโรงงานการผลิตในประเทศที่มีค่าแรงต่ำ อย่างเช่นจีน การเกิดโรคระบาดในรอบนี้ทำให้เห็นว่าการสร้างโรงงานที่จีนเพียงที่เดียว ซึ่งจีนได้ถูกตัดขาดจากโรคระบาดทำให้ซัปพลายของสินค้าถูกกระทบ บริษัทต่างๆ เริ่มมองว่าอาจจะต้องมีการย้ายการผลิตจากประเทศจีนไปยังประเทศอื่นๆ บ้างเพื่อกระจายความเสี่ยง

เพราะในวันนี้ฐานการผลิตในประเทศต่างๆ ต้นทุนการผลิตอาจจะไม่ต่างจากประเทศจีนมากนัก เนื่องจากเทคโนโลยีการผลิต อย่างเช่นระบบการผลิตในรูปแบบ Robotic ทำให้ต้นทุนด้านแรงงานคนลดลง

การย้ายกำลังการผลิตกลับประเทศตัวเอง อิษณาติ มองว่าอาจจะทำให้ประเทศที่เน้นการส่งออกเป็นหลักอย่างเช่นประเทศไทยได้รับผลกระทบพอสมควร

 

2. An Increasingly Distributed Workforce: พื้นที่สำนักงานถูกลดความสำคัญ

    การเว้นระยะห่างทางสังคม ทำให้หลายบริษัทเห็นการปรับตัวของพนักงานที่สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ ถ้าบริษัทมีการลงทุนด้านเทคโนโลยีมากขึ้น

วัตถุประสงค์ของออฟฟิศจะเปลี่ยนไป จากสถานที่ทำงานที่ให้พนักงานเข้ามาทำงานร่วมกัน เป็นเพียงสถานที่เพื่อใช้ในการประชุม หรือเป็นสถานที่ที่รวมพนักงานเพื่อระดมสมองคิดงานร่วมกันมากกว่าพื้นที่ที่ให้คนมาทำงานร่วมกันทุกวัน

ก่อให้เกิดแนวคิดการเช่าพื้นที่ในระยะสั้น เช่น การเช่าในรูปแบบ Co-Working Space และคนเหล่านี้อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงราคาของพื้นที่ใจกลางเมือง หรือย่านธุรกิจที่มีราคาไม่เพิ่มสูงขึ้นเหมือนแต่ก่อน หรือมีความแตกต่างด้านราคาน้อยลงเมื่อเทียบกับพื้นที่นอกเมือง

 

3. Shift from Time-based to Task-based Compensation: จ่ายค่าจ้างตามจำนวนงาน และเปิดโอกาสรับงานบริษัทอื่น

    พฤติกรรมของผู้บริโภคเริ่มชินกับการทำงานจากบ้านผ่านระบบออนไลน์ ที่มาพร้อมกับการพัฒนาระบบแปลภาษาที่มีความถูกต้องแม่นยำมากขึ้นเรื่อยๆ

สองสิ่งนี้ทำให้เกิดเทรนด์การจ้างงานจากที่ไหน และทำงานจากที่ไหนก็ได้ โดยพนักงานไม่จำเป็นต้องไปประจำการในประเทศที่มีการจ้างงาน

เทรนด์นี้มีข้อดีและข้อเสียคือ

    คนมีความศักยภาพ สามารถทำงานให้กับบริษัทต่างชาติที่สนใจได้ทั่วโลก โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ผ่านเทคโนโลยี การสื่อสาร และการใช้จ่ายบุคคลเหล่านี้จะเป็นการใช้จ่ายหมุนเวียนในประเทศทั้งหมด

แต่ข้อเสียคือคนที่ไม่มีศักยภาพจะถูกทิ้งห่างด้านโอกาสในการทำงานออกไป

 

    นอกจากนี้ อนาคตการจ้างงานพนักงานอาจจะไม่ได้จ้างงานตามจำนวนเวลางานและจ่ายเป็นเงินเดือนเหมือนในปัจจุบัน แต่เปลี่ยนเป็นจ้างตามรูปแบบงาน ตามจำนวนงานที่ได้ทำ หรือเรียกว่าการจ้างงานรูปแบบ Task Based สิ่งเหล่านี้ทำให้ความมั่นคงทางการเงินของคนทำงานมีน้อยกว่าในอดีต

แต่ข้อดีของการจ้างงานในรูปแบบนี้คือ ในอดีตบริษัทอาจไม่อนุญาตให้พนักงานไปรับงานนอกกับบริษัทอื่นๆ การจ้างงานในรูปแบบนี้ทำให้พนักงานสามารถทำงานให้กับบริษัทอื่นๆ ที่ต้องการได้อีกหลายบริษัทพร้อมกัน

การจ้างงานในรูปแบบ Task Based จ้างตามจำนวนงานที่ได้ทำ ทำให้นายจ้างไม่ได้เลือกพนักงานเข้าทำงานตามตำแหน่ง แต่เลือกจ้างงานตามทักษะความสามารถของพนักงานแต่ละคน

 

4. Hollowing Out of Middle-level Jobs: พนักงานระดับ Middle-level Jobs อาจไม่มีความจำเป็น

    การพัฒนาของเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนการทำงานบางประเภทงานที่เป็นการทำงานแบบ Routine ที่ทำซ้ำๆ เดิมๆ ทุกวันได้

การเข้ามาทดแทนของเทคโนโลยีทำให้เกิดการลดความสำคัญของตำแหน่งงานที่เป็น Middle-level Jobs ที่ไม่ต้องใช้ทักษะการทำงานสูง และพนักงานในกลุ่มนี้มีโอกาสถูกลดค่าจ้าง หรือถูกเลิกจ้างได้ในที่สุด

ปรากฏการณ์นี้ทำให้คนที่พัฒนาความสามารถตัวเอง มีทางรอดต่อไปในอนาคต เช่น การพัฒนาความสามารถในการใช้คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต และอื่นๆ ที่สามารถนำไปปรับใช้เพื่อสร้างรายได้ใหม่ๆ นอกจากงานประจำ

 

5. Decline of Institutional Education: สถาบันการศึกษาอาจถูกลดความสำคัญ

    รูปแบบการศึกษาในอดีตที่รับประกันเงินเดือนตามวุฒิการศึกษา อาจไม่มีความจำเป็นเหมือนก่อน จากโลกการจ้างงานในอนาคตที่จ้างตามทักษะของแต่ละบุคคลมากกว่าการศึกษา

สิ่งเหล่านี้อาจทำให้รูปแบบการศึกษาเปลี่ยนไป มหาวิทยาลัยต่างๆ อาจจะต้องมีการปรับค่าเล่าเรียนหรือการสอนออนไลน์เพื่อลดค่าใช้จ่ายมากขึ้น

การสอนออนไลน์ มีข้อดีคือสามารถรับนักเรียนได้ทั่วโลก โดยสถานศึกษาจับมือกับพาร์ตเนอร์ทั่วโลกเพื่อใช้สถานที่เป็นแคมปัสของสถานศึกษาได้

 

6. Reshaping of Business Responsibilities: ปฏิรูปโครงสร้างความรับผิดชอบในสังคม

    77% คนทั่วโลกมองว่าภาคธุรกิจเป็นภาคหนึ่งที่ควรมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบสังคมให้น่าอยู่ขึ้น

นอกจากนี้ คนทั่วโลกยังมองว่าถึงเวลาแล้วที่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล ผลประโยชน์จากรัฐบาล หรือให้รัฐบาลเข้ามาอุ้มธุรกิจ อย่างเช่นการบินไทย ต้องออกมาชี้แจงเพื่อความโปร่งใส และตรวจสอบได้ เช่น ชี้แจงเงินเดือนผู้บริหาร รายได้และค่าใช้จ่ายต่างๆ อย่างละเอียด  

 

7. Reengineering of Social Safety Nets: ปรับสวัสดิการสังคม

    จากการสำรวจของอิปซอสส์ พบว่าความกังวลของคนทั่วโลก 5 อันดับแรก ได้แก่

1. ความยากจน ความไม่เท่าเทียมกันในสังคม

2. การว่างงาน

3. อาชญากรรมและความรุนแรง

4. การเงินและการคอร์รัปชั่นทางการเมือง

5. สุขภาพ

    จะเห็นได้ว่า 5 อันดับแรกจะเป็นการให้ความสำคัญในเรื่องของความยากจน เงินและรายได้เกือบทั้งหมด และในวันนี้ทำให้เราเห็นว่าอนาคตอาจจะไม่มีความแน่นอน การสำรองเงินในอนาคตให้กับลูกจ้างอาจเป็นสิ่งที่จำเป็นมากกว่าปัจจุบัน เช่น ภาครัฐบาลมีการปรับเพิ่มการเก็บเงินสำรองเลี้ยงชีพมากขึ้น การนำพนักงานฟรีแลนซ์เข้าสู่ระบบประกันสังคม เป็นต้น

    ทั้งนี้ แม้โควิด-19 จะหมดลง แต่เทรนด์ที่กล่าวมาทั้งหมดอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นแบบปัจจุบันทันด่วน แต่เราจะได้เห็นในอนาคตไม่ช้าหรือเร็วอย่างแน่นอน

ที่มา : https://marketeeronline.co/

 581
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์