Designing Vs. Cooking

Designing Vs. Cooking

 

 ภาพจาก: https://www.finedininglovers.com

 

การออกแบบ นอกจากจะใช้ความคิดสร้างสรรค์ และจิตนาการของผู้ทำกลั่นกรองออกมาแล้วยังมีองค์ประกอบอื่นที่สำคัญทำให้เกิดผลงานที่มีคุณภาพ และถูกมองเป็นศาสตร์คล้ายกับ การปรุงอาหาร  อาจมีข้อสงสัยว่าการออกแบบกับการปรุงอาหารเกี่ยวข้องกันอย่างไร จึงขอแยกอธิบายออกเป็น 6 หัวข้อดังนี้

 

1. มีความเป็น น้ำพริกหนุ่ม

ร้านอาหารที่ต้องการเน้นขาย น้ำพริกหนุ่ม ต้องชูเอกลักษณ์ของความเป็นร้านขายน้ำพริกหนุ่มให้ได้ อาจมีเครื่องเคียงน้ำพริกอื่นๆมาเสริมการขาย แต่ต้องไม่ทำให้ภาพลักษณ์ของร้านอาหารที่มีพระเอกเป็น น้ำพริกหนุ่ม ลดทอนหายไป

 

เช่นเดียวกันกับการออกแบบเราต้องเข้าใจให้ได้ว่า ผลิตภัณฑ์ ของเรามีเอกลักษณ์คืออะไร ต้องออกแบบโดยเน้นให้มีเอกลักษณ์เพียง 1 อย่างหรือ 2 อย่างเท่านั้น เพราะสมองของคนเราสามารถจำจดจุดสำคัญได้มากและการมีจุดเด่นมากเกินไป อย่าลืมว่าจะทำให้กลายเป็นว่า ไม่มีอะไรเด่นเลย

 

2. มีความเป็น แกงจืด

แกงจืดสามารถใส่วัตถุดิบลงไปได้ตามความชอบ หมูสับ เต้าหู้ไข่ ผักกาดขาว วุ้นเส้น แต่หากลองจินตนาการถึงแกงจืดที่ไม่มีน้ำซุบใสๆให้ซดกิน มีเพียงหมู เห็ด เป็ด ไก่ เต็มไปหมดจนไม่เหลือช่องว่าง หากได้รับประทานจริงคงฝืดคอ

 

การออกแบบก็เช่นกัน บางทีการมีจุดเด่นมากเกินไปทำให้เส้นทางการนำสายตาผิดเพี้ยน ผู้ใช้งานรู้สึกสับสนเพราะไม่รู้จะเริ่มที่ตรงไหน นี่จึงประโยชน์ของ พื้นที่ว่าง เพื่อชูจุดเด่นนั่นเอง

 

3. ปิ้ง ทอด ต้ม ตุ๋ม

หมู ผ่านการปิ้งกลายเป็น หมูปิ้ง ผ่านการทอดกลายเป็น หมูทอด กระบวนการเหล่านี้ทำให้เกิดเป็นอาหารที่ปรุงสุกพร้อมรับประทานแต่หากเราเอาหมูปิ้งมาทอด หรือหมูทอดมาปิ้ง จะไม่ทำให้เกิดสิ่งใหม่ขึ้นมาเพราะสุดท้ายจะได้ผลเช่นเดิมหรืออาจเสียคุณค่าไป

 

หากพูดถึงการออกแบบ อาจหมายถึงกระบวนการบางอย่างที่ทำให้เกิดความสูญเปล่า มีความซับซ้อนแต่ได้ผลลัพธ์เหมือนกัน หรืออาจแย่กว่าเดิมก็เป็นได้ บางทีไม่ต้องผ่านวิธีการมากมายให้ยุ่งยากก็สามารถเกิดผลงานที่มีคุณภาพได้ เหมือนคำพูดที่ว่า มีวิธีที่ดีที่สุด ไม่ได้ดีไปกว่า การเลือกใช้วิธีที่เหมาะสมที่สุด

 

4. วัตถุดิบ

อาหารที่มีสะอาด อร่อย มีประโยชน์ และราคาแพง มาจากการเลือกใช้วัตถุดิบที่ดี ผ่านกระบวนการผลิตที่ปลอดภัยและบรรยากาศหรือสถานที่ปลอดโปร่ง ดูมีระดับ เหล่านี้ล้วนทำให้เพิ่มมูลค่าของอาหาร ดังนั้นการช้วัตถุดิบที่ดีเพียงอย่างเดียวไม่สามารถเพิ่มมูลค่าได้

 

วัตถุดิบ เปรียบเสมือนหัวสมองของมนุษย์ ถึงแม้จะอ่านหนังสือหาความรู้ เสริมสร้างจินตนาการมากเพียงใดหากไม่รู้จักนำออกมาใช้มาปรุงแต่งเพิ่มเติม จะยังคงวัตถุดิบที่ดีที่ถูกทิ้งไว้ในตู้เย็นสุดท้ายอาจเน่าเสียไปได้ การมีองค์ความรู้ถือสิ่งที่ควรมีไว้ แต่ควรควบคู่กับการขัดเกลาให้เกิดประสบการณ์ และสามารถนำมาใช้งานได้จริง สร้างมูลค่าโดยผลิตผลงานที่มีคุณภาพทำให้ผู้อื่นยอมรับ

 

5. สูตรอาหาร

การทำอาหารในปัจจุบันนี้เป็นเรื่องง่ายเพราะสามารถใช้ Search engine เป็นตัวช่วย แต่บางคนทำตามสูตรเพียงใดกลับไม่อาจอร่อยเหมือนสูตรนั้นได้ เพราะเราลอกแค่เปลือกนอกโดยไม่ใส่ใจรายละเอียดของแต่ละขั้นตอนว่าเขามีเหตุผลอย่างไรถึงต้องทำ

 

การออกแบบหน้าจอ ลองเปิดเว็บไซต์ขึ้นมาจอหนึ่งและตั้งใจลอกออกมาให้เหมือนทุกอย่าง บางครั้งผลงานออกมาแต่ใจเรากลับบอกว่าทำไมไม่สวยเหมือนเขา ทั้งที่ใช้สัดส่วนเหมือนทุกประการแล้ว นั่นเป็นเพราะเราไม่เข้าใจเหตุผลว่าทำไมเขาต้องออกแบบมาให้เป็นแบบนั้น จึงไม่สามารถใส่รายละเอียดลงไปในงานได้เหมือนแบบต้นฉบับ

 

6. อาหารไทย vs. อาหารญี่ปุ่น

วัฒนธรรมที่แตกต่างเปรียบเทียบระหว่างอาหารไทยและอาหารญี่ปุ่น

อาหารไทย มักจะมีวิธีการทำซับซ้อน มีวัตถุดิบหลายอย่างรวมกัน ทั้งกินได้กินไม่ได้ เครื่องเคียง โรยหน้า เต็มไปหมด

อาหารญี่ปุ่น คัดเลือกปลาแข็งแรง สดใหม่ มาแล่ชิ้นบางๆ เรียงบนจานเปล่า พร้อมเสิร์ฟก็สามารถทานได้ทันที

 

ทำให้เห็นว่าการออกแบบหน้าเว็บไซต์ของคนไทยจะชอบมีป้ายโฆษณา ปุ่มฟังก์ชัน มากมายมากองๆไว้ที่หน้าจอเดียวเพื่อง่ายต่อการใช้งาน ในขณะที่อื่นช่วยให้มีหน้าจอเรียบๆและแสดงปุ่มที่ได้ใช้งานบ่อยอยู่เท่านั้น หากเรานำแบบที่ 2 มาใช้ที่ประเทศไทยอาจไม่เป็นที่นิยมเพราะผู้ใช้ยังไม่คุ้นเคย ดังนั้นต้องออกแบบให้เหมาะสมกับวัฒนธรรมการใช้งานของผู้ใช้งานกลุ่มเป้าหมายด้วย

อาหารไทยที่ใส่อะไรเยอะแยะ เรายังว่าอร่อย การออกแบบโดยใส่อะไรเยอะๆ สามารถทำให้สวยได้เช่นกัน

 

เรียบเรียงโดย : ศิรดา ไตรภูมิสุทธิ

 1123
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์